การรักษามุ่งเป้าด้วยยาต้านภูมิอิมมูโนโกลบูลินอีที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสำหรับโรคลมพิษเรื้อรัง

ยาทางเลือกแรกในการรักษาโรคลมพิษเรื้อรัง (chronic spontaneous urticaria, CSU) คือ ยาต้านฮิสตามีนชนิดไม่ทำให้ง่วง (non-sedating H1 antihistamine) โดยให้นาน 2-4 สัปดาห์ ถ้ายังไม่สามารถควบคุมอาการได้สามารถเพิ่มขนาดได้ถึง 4 เท่า และหากยังมีอาการอยู่อาจให้ยากลุ่มอื่น ได้แก่ กลุ่มยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) หรืออาจใช้ยา omalizumab ซึ่งออกฤทธิ์ต้านภูมิอิมมูโนโกลบูลินอี (anti-immunoglobulin E monoclonal antibody)

พยาธิสรีระวิทยาของโรคลมพิษเรื้อรังเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของกระบวนการกระตุ้นและปลดปล่อยสารในระบบภูมิคุ้มกันจาก mast cell และ basophil ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลจาก 2 กลไกประการที่หนึ่งคือความผิดปกติของการรับส่งสัญญาณภายใน mast cell และ basophil ส่วนประการที่สองเกี่ยวข้องกับการเกิดภูมิต้านเนื้อเยื่อตัวเองหรือที่เรียกว่า ออโตแอนติบอดี (autoantibodies) ของอิมมูโนโกลบูลินอี (immunoglobulin E, IgE) บนผิวเซลล์ของ mast cell และ basophil ทั้งสองกลไกนี้เกี่ยวข้องกับการกระตุ้น IgE ซึ่งทำหน้าที่จดจำสิ่งแปลกปลอม ในที่นี้คือสารก่อภูมิแพ้ แล้วกระตุ้นให้ mast cell หรือ basophil หลั่งฮิสตามีน และสารในระบบภูมิคุ้มกันที่เกี่ยวข้องการแพ้ชนิดอื่น ๆ

ข้อมูลงานวิจัยก่อนหน้านี้พบว่ามีผู้ป่วยร้อยละ 60-70 ที่ได้รับการรักษาด้วยกลุ่มยาต้านฮิสตามีนชนิดไม่ง่วงขนาดมาตรฐานแล้วสามารถควบคุมอาการได้ดี และสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านฮิสตามีนชนิดไม่ง่วงขนาดสูง (4 เท่าของขนาดมาตรฐาน) พบว่ายามีประสิทธิภาพร้อยละ 45-60 ขณะที่ผู้ป่วย 1 ใน 3 ดื้อยา สำหรับการรักษาด้วยยา omalizumab ขนาด 300 มิลลิกรัมทุก 4 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาโดยสมบูรณ์ร้อยละ 60 ตอบสนองบางส่วนร้อยละ 30 และไม่ตอบสนองร้อยละ 10 และมีข้อมูลว่าการให้ยา prednisolone ชนิดรับประทานระยะสั้น 0.3-0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ช่วยคุมอาการในผู้ป่วยได้ร้อยละ 50

ประสิทธิภาพของกลุ่มยาที่มีใช้ในปัจจุบันไม่สูงมาก และปัญหาการดื้อยาต้านฮิสตามีนซึ่งเป็นทางเลือกแรกสำหรับการรักษา อีกทั้งการได้รับยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ตามมามากมาย อาทิ ภาวะบวมน้ำ นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน กระดูกพรุน สำหรับยา omalizumab ก็ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ อาทิ โรคติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน ไซนัสอักเสบ ปวดศีรษะ หลอดลมอักเสบ จึงมีการพัฒนายาที่มีฤทธิ์ต้านภูมิอิมมูโนโกลบูลินอีชนิดใหม่เพื่อเพิ่มทางเลือกในการรักษาโรคลมพิษเรื้อรัง

          งานวิจัย PEARL 1 และ PEARL 2 ทำการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการรักษาผู้ป่วย CSU ด้วยยา ligelizumab ซึ่งมีฤทธิ์ต้านภูมิอิมมูโนโกลบูลินอี โดยประกอบด้วยกลุ่มทดลอง 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้รับยา ligelizumab 72 มิลลิกรัม ฉีดใต้ผิวหนังทุก 4 สัปดาห์ ขณะที่อีกกลุ่มได้รับยา ligelizumab 120 มิลลิกรัม ฉีดใต้ผิวหนังทุก 4 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับยา omalizumab 300 มิลลิกรัม ฉีดใต้ผิวหนังทุก 4 สัปดาห์ และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยผู้ป่วยในงานวิจัยส่วนใหญ่มีอาการระดับรุนแรง (ร้อยละ 65) หรือระดับปานกลาง (ประมาณร้อยละ 35) ซึ่งเมื่อนับรวมจำนวนผู้เข้าร่วมงานวิจัยทั้ง 2 ชิ้นจะถือว่าเป็นข้อมูลการศึกษาในผู้ป่วยโรคผื่นลมพิษเรื้อรังที่มีขนาดกลุ่มตัวอย่างมากที่สุด โดยมีจำนวนผู้ป่วย 1,034 และ 1,023 รายจากงานวิจัย PEARL 1 และ PEARL 2 ตามลำดับ มีการสุ่มแบ่งกลุ่มตัวอย่างด้วยสัดส่วน 3:3:3:1 โดยกลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีจำนวนน้อยที่สุด และติดตามผลลัพธ์หลังเริ่มยานาน 52 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม เมื่อครบ 24 สัปดาห์ กลุ่มที่ได้รับยาหลอกจะเปลี่ยนไปได้รับยา ligelizumab 120 มิลลิกรัม ทุก 4 สัปดาห์แทน

ผลลัพธ์หลักของงานวิจัยทั้ง 2 ชิ้น วัดจากคะแนนการประเมินความรุนแรงของอาการของโรคผื่นลมพิษตลอดระยะเวลา 7 วัน (urticaria activity score, USA7) จากการประเมินรอยแดงบนผิว (wheals) และอาการคัน (itch) โดยกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 0 คะแนน (ไม่มีอาการ) ขณะที่คะแนนรวมสูงสุดเท่ากับ 42 คะแนน (มีอาการระดับรุนแรงที่สุด)

          ผู้ป่วยแต่ละกลุ่มมีคะแนน UAS7 เฉลี่ยก่อนเริ่มยาที่ 30 คะแนน โดยผลลัพธ์จากงานวิจัย PEARL 1 พบว่าผู้ป่วยที่คะแนน USA7 ถึงระดับเป้าหมาย ได้แก่ ร้อยละ 31.0 ของกลุ่มที่ได้รับยา ligelizumab 72 มิลลิกรัม ร้อยละ 38.3 ของกลุ่มที่ได้รับ ligelizumab 120 มิลลิกรัม ร้อยละ 34.1 ของกลุ่มที่ได้รับยา omalizumab และร้อยละ 5.7 ของกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ขณะที่คะแนน UAS7 ของผู้ป่วยในงานวิจัย PEARL 2 แต่ละกลุ่มลดลงเฉลี่ยต่างจาก PEARL 1 ไม่เกิน 0.4 คะแนน นั่นคือ กลุ่มที่ได้รับ ligelizumab 72 มิลลิกรัม คะแนนลดลง 19.2 คะแนน กลุ่มที่ได้รับ ligelizumab 120 มิลลิกรัม คะแนนลดลง 19.3 คะแนน กลุ่มที่ได้รับ omalizumab ลดลง 19.6 คะแนน และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก คะแนนลดลง 9.2 คะแนน โดยไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มที่ได้รับยา omalizumab และ ligelizumab ทั้งสองขนาด

          ในด้านความปลอดภัย กลุ่มที่ได้รับยาเกิดอาการไม่พึงประสงค์โดยรวมใกล้เคียงกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ขณะที่อัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่มีความรุนแรงระดับปานกลางในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยา ligelizumab 72 มิลลิกรัม กลุ่มที่ได้รับ ligelizumab 120 มิลลิกรัม และกลุ่มที่ได้รับ omalizumab (ร้อยละ 16.5, 19.8, 21.6 และ 22.3 ตามลำดับ) การหยุดยาที่มีสาเหตุจากอาการไม่พึงประสงค์ในทุกกลุ่มมีน้อยกว่าร้อยละ 4 อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์ที่ 52 ผู้วิจัยให้ข้อมูลว่ามีผู้ป่วยร้อยละ 15 หยุดการรักษา คาดว่ามีสาเหตุมาจากความกังวลต่อการเข้ารับการติดตามผลที่คลินิก เนื่องจากดำเนินการในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19

          จากผลลัพธ์งานวิจัยพบว่าประโยชน์จากการรักษาด้วยยา ligelizumab และ omalizumab มีความใกล้เคียงกัน ยังต้องมีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มต่อไป อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยคาดว่ายา ligelizumab จะมีประโยชน์สำหรับการพิจารณาเป็นยาทางเลือกในการรักษาโรคผื่นลมพิษเรื้อรังได้ในอนาคต

แหล่งอ้างอิง:

  1. Bosworth T. Targeted Anti-IgE Therapy Found Safe and Effective for Chronic Urticaria [Internet]. 2022 [cited 2022 Sep 15]. Available from: https://www.medscape.com/viewarticle/980846. Subscription required to view.
  2. Bracken SJ, Abraham S, and MacLeod AS. Autoimmune theories of chronic spontaneous urticaria. Front Immunol [Internet]. 2019 [cited 2022 Nov 8];10(627):1-10. Available from: https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fimmu.2019.00627/full.
  3. Kulthanan K, Tuchinda P, Chularojnamontri L, Chanyachailert P, Korkij W. Clinical practice guideline for diagnosis and management of urticaria. Asian Pac J Allergy Immunol [Internet]. 2016 [cited 2022 Sep 30];34:190-200. Available from: https://www2.si.mahidol.ac.th/en/wp-content/uploads/2020/11/7-Clinical-practice-guideline-for-diagnosis-and-management-of-urticaria.pdf.
  4. Schaefer P. Acute and chronic urticaria: evaluation and treatment. Am Fam Physician [Internet]. 2017 [cited 2022 Sep 30];95(11):717-s1. Available from: https://www.aafp.org/dam/brand/aafp/pubs/afp/issues/2017/0601/p717.pdf.
  5. Sánchez-Borges M, Ansotegui I, Jimenez JM, Rojo MI, Serrano C, and Yañez A. Comparative efficacy of non-sedating antihistamine updosing in patients with chronic urticaria. World Allergy Organ J [Internet]. 2014 [cited 2022 Sep 30];7(1):33. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4363057/.
  6. Mertz M, Vadasz Z, Kocatürk E, and Giménez-Arnau AM. Omalizumab Updosing in Chronic Spontaneous Urticaria: an Overview of Real-World Evidence. Clin Rev Allergy Imminol [Internet]. 2020 [cited 2022 Sep 30];59(1):38-45. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7351799/.
  7. Mehta A, Godse K, Patil S, Nadkarni N, and Gautam M. Treatment of refractory chronic urticaria. Indian J Dermatol [Internet]. 2015 [cited 2022 Sep 30];60(3):230-237. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4458932/.
error: Content is protected !!