ความชุกของการไม่ทนต่อยากลุ่มสแตติน

การรักษาด้วยยากลุ่มสแตติน (statin) มีหลักฐานทางวิชาการยืนยันว่าช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตสำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งจากการป้องกันปฐมภูมิ (primary prevention) และทุติยภูมิ (secondary prevention) ทำให้มีการสั่งจ่ายยากลุ่มสแตตินมาก ทว่าปัญหาที่พบ คือ การไม่ให้ความร่วมมือในการใช้ยาและการหยุดยา ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของการหยุดเกิดจากอาการไม่พึงประสงค์ ในกลุ่ม อาการทางกล้ามเนื้อที่สัมพันธ์กับการใช้ยากลุ่มสแตติน (statin-associated muscle symptoms, SAMS)

การไม่ทนต่อยากลุ่มสแตติน (statin intolerance, SI) ตามนิยามของ International Lipid Expert Panel (ILEP) หมายถึง ความไม่สามารถทนต่อการได้รับยากลุ่มสแตตินในขนาดที่เพียงพอสำหรับการลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งใกล้เคียงกับนิยามของ National Lipid Association (NLA) แต่มีความหมายกว้างกว่าคือหมายรวมถึงอาการไม่พึงประสงค์ที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและนำไปสู่การตัดสินใจลดหรือหยุดยาที่มีข้อดีต่อผู้ป่วย ขณะที่คำนิยามของ Luso-Latin American Consortium (LLAC) ซึ่งมีความใกล้เคียงกับคำนิยามของ Canadian Consensus Working Group (CCWG) หมายถึง ความสามารถทนต่อยากลุ่มสแตตินตั้งแต่ 2 รายการขึ้นไปที่ขนาดใด ๆ หรือสามารถทนต่อการได้รับยากลุ่มสแตตินที่มีการปรับขนาดเพิ่มขึ้น โดยอาการที่สัมพันธ์กับความไม่ทนต่อยาไม่ได้มีสาเหตุจากอันตรกิริยาระหว่างยา หรือสภาวะอื่นที่ทราบกันดีว่ามีผลทำให้เพิ่มความไม่ทนต่อยา

เกณฑ์ของอาการที่สัมพันธ์กับการไม่ทนต่อยาประกอบด้วย อาการทางกล้ามเนื้อที่ผู้ป่วยไม่สามารถทนได้ (intolerable muscle symptoms) เช่น อาการปวด อ่อนแรง หรือเป็นตะคริว อาจมีหรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับเอนไซม์ creatinine kinase (CK) หรือกล้ามเนื้อผิดปกติรุนแรง (severe myopathy) โดยที่อาการดังกล่าวเกิดขึ้นภายใน 12 สัปดาห์แรกหลังเริ่มการรักษา หรือหลังจากการปรับเพิ่มขนาดยากลุ่มสแตติน

การรายงานความชุกของการไม่ทนต่อยากลุ่มสแตตินมีความหลากหลาย จากความแตกต่างของเกณฑ์การนิยาม การวินิจฉัย อันตรกิริยาที่อาจเกิดขึ้น ความแตกต่างของโรค และยาที่ได้รับ รวมถึงข้อมูลทางประชากรศาสตร์หรือข้อมูลสุขภาพที่แตกต่างกัน โดยพบว่างานวิจัยรูปแบบ randomized controlled trials (RCTs) รายงานความชุกที่ร้อยละ 5-7 ขณะที่งานวิจัยรูปแบบ cohort study รายงานถึงร้อยละ 30 ของจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับยา

อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าความไม่ทนต่อยากลุ่มสแตตินนำมาซึ่งการไม่ให้ความร่วมมือในการใช้ยาและการหยุดยา ซึ่งจะส่งผลให้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้น เป็นปัญหาทางสาธารณสุขระดับโลก Ibadete Bytyçi และคณะจึงทำการศึกษาโดยวิธีการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) เพื่อระบุความชุกของความไม่ทนต่อยากลุ่มสแตตินโดยพิจารณาข้อมูลจากผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่กว่า 4 ล้านคนทั่วโลก

          ผู้วิจัยพิจารณาข้อมูลจากผู้ป่วย 4,143,517 รายทั่วโลกจากข้อมูลงานวิจัย 176 ชิ้น ซึ่งประกอบด้วยงานวิจัยรูปแบบ randomized controlled trial (RCT) 112 ชิ้น และรูปแบบ cohort 64 ชิ้น พบว่า ความชุกของการไม่ทนต่อยากลุ่มสแตตินโดยรวมเท่ากับร้อยละ 9.1 (95% confidence interval (CI): 8.0-10.0%) และเมื่อประเมินตามเกณฑ์ของ European Atherosclerosis Society (EAS) International Lipid Expert Panel (ILEP) และเกณฑ์การวินิจฉัยโดย National Lipid Association (NLA) พบว่าความชุกของการไม่ทนต่อยากลุ่มสแตตินมีค่าเท่ากับร้อยละ 5.9 (95% CI: 4.0-7.0%) ร้อยละ 6.7 (95% CI: 5.0-8.0%) และร้อยละ 7.0 (95% CI: 6.0-8.0%) ตามลำดับ

ปัจจัยหลักที่สัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการไม่ทนต่อยากลุ่มสแตติน ได้แก่ เพศหญิง ภาวะไทรอยด์ต่ำ การได้รับยากลุ่มสแตตินขนาดสูง ผู้สูงอายุ ใช้ยากลุ่มสแตตินร่วมกับยาต้านหัวใจเต้นผิดปกติ และภาวะอ้วน ส่วนปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ เชื้อชาติ (เอเชีย หรือแอฟริกันอเมริกา) โรคเบาหวานชนิดที่ 2 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรคตับ และโรคไตเรื้อรัง

จากผลลัพธ์งานวิจัยนี้ ผู้วิจัยมองว่าจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ประเมินอาการไม่พีงประสงค์ที่เกิดกับผู้ป่วยอย่างระมัดระวังมากขึ้น และใช้ Statin-Associated Muscle Symptom Clinical Index (SAMS-CI) เพื่อประเมินอาการทางกล้ามเนื้อของผู้ป่วยที่อาจมีสาเหตุหรือแย่ลงจากการได้รับยากลุ่มสแตติน

อย่างไรก็ตาม แม้อาการไม่พึงประสงค์ที่มีการรายงานบ่อย อาทิ อาการปวดกล้ามเนื้อ และอาการอ่อนเพลีย (lethargy) แต่ไม่ได้มีสาเหตุจากยากลุ่มสแตตินโดยตรง การเลือกใช้ยาก็ควรพิจารณาให้เฉพาะผู้ป่วยที่มีข้อบ่งใช้สอดคล้องกับหลักฐานทางวิชาการและติดตามการใช้ยาอย่างเหมาะสมเพื่อให้ผู้ป่วยเกิดประโยชน์และมีความปลอดภัยจากการใช้ยาได้

แหล่งอ้างอิง:

  1. Brooks M. Statin intolerance ‘overestimated and overdiagnosed’[Internet]. 2022 [cited 2022 Feb 17]. Available from: https://www.medscape.com/viewarticle/968627#vp_1. Subscription required to view.
  2. Bytyçi I, Penson PE, Mikhailidis DP, Wong ND, Hernandez AV, Sahebkar A, et al. Prevalence of statin intolerance: a meta-analysis. Eur Heart J [Internet]. 2022 [cited 2022 Sep 30]. Available from: https://academic.oup.com/eurheartj/article/43/34/3213/6529098.
error: Content is protected !!