ยาโมลนูพิราเวียร์ในการรักษาโควิด-19: การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ

ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) เป็นยาต้านไวรัสสำหรับรับประทานชนิดใหม่ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 เช่นเดียวกับเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) และฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้ การออกฤทธิ์ของยาทั้ง 3 ชนิดนี้เกี่ยวข้องกับเอนไซม์ RNA-dependent RNA-polymerase (RdRp) ที่เชื้อโควิด-19 ใช้ในกระบวนการ RNA transcription และ replication ส่งผลให้ไวรัสมีสารพันธุกรรมผิดปกติและเสียชีวิตในที่สุด โดยยามีกลไกแตกต่างกัน ดังนี้

  • ยาโมลนูพิราเวียร์: โครงสร้างออกฤทธิ์แย่ง cytidine (C) และ uridine (U) จับกับ RdRp ทำให้ในกระบวนการ RNA transcription เกิดการสร้าง negative strand genomic RNA (-gRNA) ที่มีการกลายพันธุ์ (mutagenesis)
  • ยาเรมเดซิเวียร์: โครงสร้างออกฤทธิ์จับกับ U ในกระบวนการ RNA transcription แล้วเอนไซม์ RdRp จะหยุดทำงานที่ตำแหน่งที่ 3 หลังจับกับโครงสร้างออกฤทธิ์บนสาย -gRNA ทำให้การสร้าง -gRNA ไม่สมบูรณ์ (Chain termination)
  • ยาฟาวิพิราเวียร์: โครงสร้างออกฤทธิ์สามารถจับกับ guanine (G), adenine (A) และ RdRp ได้ ทำให้กระบวนการ RNA transcription ช้าลง และ/หรือ เกิดการสร้างสาย -gRNA ที่มีการกลายพันธุ์ และ/หรือ เกิดการสร้างสาย -gRNA ที่ไม่สมบูรณ์

ผู้เขียนทำการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเพื่อหาข้อสรุปด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโควิด-19 โดยพิจารณาข้อมูลงานวิจัยทั้งที่เสร็จสิ้นแล้วและกำลังดำเนินการจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จนถึง 15 ตุลาคม 2564 ได้ผลลัพธ์ ดังนี้

  • phase 1 double-blind, randomized, placebo-controlled trial 2 งานวิจัย พบว่า
    • ขนาดยาโมลนูพิราเวียร์สูงสุดที่อาสาสมัครทนได้โดยไม่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรง (serious adverse drug reaction) คือ 1,600 มิลลิกรัม/วัน เมื่อได้รับนานไม่เกิน 5.5 วัน
    • กลุ่มที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์เกิดอาการไม่พึงประสงค์มากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยอาการที่พบบ่อยที่สุดคือ ปวดศีรษะ (กรณีได้รับยาวันละครั้ง) และท้องเสีย (กรณีได้รับยาวันละ 2 ครั้ง)
  • phase 2 double-blind, randomized, placebo-controlled trial 1 งานวิจัย พบว่า
    • ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการระดับเล็กน้อยถึงปานกลางที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ครั้งละ 800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง มีระยะเวลาขจัดเชื้อ (RNA negativity) สั้นกว่าผู้ที่ได้รับยาหลอก (log-rank p value = 0.013)
    • อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยในกลุ่มที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ ได้แก่ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และระดับ alanine aminotransferase (ALT) เพิ่มขึ้น โดยพบการเกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง (grade 3 or severe adverse drug reaction) ในกลุ่มที่ได้รับยา 5% และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก 8.1%
  • รายงานก่อนสิ้นสุดงานวิจัย (interim report) phase 3 double-blind, randomized, placebo-controlled trial 1 งานวิจัย จากข้อมูลผู้ป่วย 775 คน ที่มีอาการระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ร่วมกับ 1 ปัจจัยเสี่ยง (โรคอ้วน, อายุมากกว่า 60 ปี, โรคเบาหวาน และ โรคหัวใจ) พบว่า
    • ผู้ป่วยที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์มีความเสี่ยงต่อการเข้ารักษาในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 50% (p = 0.0012) โดยประเมินผลในวันที่ 29
    • อาการไม่พึงประสงค์จากยา พบในกลุ่มที่ได้รับยา 12% กลุ่มที่ได้รับยาหลอก 11%  

แม้ว่างานวิจัยที่ศึกษาประสิทธิภาพของยาโมลนูพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการระดับรุนแรง 1 งานวิจัย และระดับปานกลาง 2 งานวิจัย ยุติลงเนื่องจากไม่พบประโยชน์ต่อผู้ป่วย ก็ยังมีงานวิจัยที่ศึกษาประสิทธิภาพของยาในผู้ป่วยที่มีอาการระดับเล็กน้อย และระดับปานกลางอีกกว่า 10 งานวิจัยที่ยังดำเนินการเพื่อหาข้อสรุปเพิ่มเติมต่อไป

อ้างอิง: Singh AK, Singh A, Singh R, and Misra A. Molnupiravir in COVID-19: A systematic review of literature. Diabetes Metab Syndr: Clin Res Rev [Internet]. 2021 [cited 9 Nov 2021]; 2021, Oct. Available from: https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S1871402121003490.

error: Content is protected !!