CLL patients ‘cured’: 10 years post-infusion, CAR T cells persist

Chimeric antigen receptor T-cell หรือ CAR T-cell คือการนำเม็ดเลือดขาวชนิด T-cell ของผู้ป่วยมาดัดแปลงการทำงานให้สามารถจดจำและทำลายเซลล์มะเร็ง โดยกระบวนการดัดแปลงทำในห้องปฏิบัติการ หลังจาก T-cell ถูกดัดแปลงแล้วจะถูกฉีดกลับให้ผู้ป่วยเจ้าของ T-cell นวัตกรรมการรักษานี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดนานาชนิด และกำลังเป็นทางเลือกสำหรับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemias) ซึ่งสามารถทำนายผลลัพธ์ในระยะยาวและการทำงานของเซลล์ได้แม่นยำขึ้น

ได้มีการติดตามการใช้ CAR-T cell ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด chronic lymphocytic leukemia (CCL) 2 ราย ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย พบว่าผู้ป่วยหายขาดจากโรคมะเร็งตั้งแต่ปีแรกของการรักษา โดยนักวิจัยพบว่ายังสามารถตรวจวัดระดับ CAR-T cell ในร่างกายผู้ป่วยทั้ง 2 รายได้แม้ผ่านมานาน 10 ปีหลังจากได้รับการรักษา และพบว่า CAR T-cell มีพัฒนาการจากเดิมที่รับคำสั่งจากเม็ดเลือดขาวชนิด killer T cell กลายเป็นรับคำสั่งจากเม็ดเลือดขาว CD4-positive CAR T-cell ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นหลัก และยังสามารถทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวได้เมื่อทดลองในห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้พบว่ามีการเพิ่มจำนวนของ CD4-positive cells ในผู้ป่วยรายหนึ่งอย่างมากในปีที่ 9.3 หลังได้รับการรักษา            

นักวิจัยให้ความเห็นว่าการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการหายขาดจากโรคมะเร็งหลังได้รับการรักษาด้วย CAR T-cell ยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะตรวจไม่พบเซลล์มะเร็งเลย นั่นหมายความว่าเซลล์มะเร็งอาจถูกกำจัดตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของการรักษาหรืออาจจะหลบซ่อนอยู่และเมื่อถูกทำลายโดย CAR T-cell ที่ยังคงอยู่ในร่างกายภายหลัง และยังคาดว่าจะได้เห็นผลลัพธ์การรักษาโรคมะเร็งชนิด CLL ที่คล้ายกันนี้ในผู้ป่วยรายอื่น แต่สำหรับโรคมะเร็งเม็ดเลือดชนิดอื่น ๆ นั้นยังต้องรอติดตามผลการรักษากันต่อไป ขณะที่ผลการรักษาด้วย CAR T-cell ต่อโรคมะเร็งชนิดเป็นก้อน (solid tumor) ยังเป็นที่น่าผิดหวัง เนื่องจากยังไม่มีการเผยแพร่ผลลัพธ์งานวิจัยอย่างที่พบจากการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือด ซึ่งอาจจะเนื่องจากหลายสาเหตุด้วยกัน ตั้งแต่ความซับซ้อนของมะเร็งชนิดเป็นก้อน เซลล์มะเร็งหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วย CAR T-cell ก็ยังไม่ได้ผลกับผู้ป่วยทุกคน นักวิจัยให้ความเห็นว่าต้องทำการศึกษาถึงกลไกที่จะทำให้การรักษาด้วย CAR T-cell ได้ผลต่อผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น

แหล่งอ้างอิง: Melvile NA. CLL patients ‘cured’: 10 years post-infusion, CAR T cells persist [Internet]. 2022 [cited 2022 Feb 3]. Available from: https://www.medscape.com/viewarticle/967827#vp_1. Subscription required to view.

error: Content is protected !!